วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปฏิรูปการศึกษา ยกเครื่องทางปัญญา อ.ประเวศ วะสี



จากหนังสือ ปฏิรูปการศึกษา ยกเครื่องทางปัญญา ทางรอดจากความหายนะ
ผู้เขียน ศร.ดร.ประเวศ วะสี
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
ISBN ๙๗๔-๗๖๖๗-๗๘-๙
พิมพ์ครั้งที่ ๑ : กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
พิมพ์ครั้งที่ ๒ : เมษายน ๒๕๕๑

ตอนที่ 1 อารัมภกถา
*************************
การศึกษาที่ดีแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
          การศึกษาที่ดีทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามอะไรก็ได้ เพราะสมองของมนุษย์มีศักยภาพสูงสุด การศึกษาที่ดีสามารถขจัดทุกข์เข็ญของแผ่นดินได้ เราเข้าใจการศึกษาเพียงว่า คือการท่องหนังสือ ซึ่งไม่มีน้ำยา จึงไม่ศรัทธาในการศึกษาว่าจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เราทำการศึกษาให้เป็นความทุกข์ ความยากลำบาก และผลิตคนที่ด้อยคุณภาพ ความด้อยคุณภาพนำไปสู่ความทุกข์และวิกฤติ แท้ที่จริงการศึกษาไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้สนุก ทำให้มีความสุข และสร้างสรรค์คุณภาพคนอย่างใดก็ได้ ถ้าเราจะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เสียใหม่ การศึกษาที่ดีสามารถขจัดความยากจน สร้างทักษะชีวิต ทำให้ครอบครัวเป็นปึกแผ่น ชุมชนเข้มแข็งอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม อนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม ทำให้การเมืองถูกต้อง สร้างอิสระภาพและความสุข ทำให้เกิดบุคคลเรียนรู้และสังคมเรียนรู้

ครูคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดี
          ครูคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดี เมื่อตกอยู่ ณ ที่ใด ความดีย่อมงอกงามขึ้นโดยรอบ
          ครูคือกัลลยาณมิตร การได้พบกัลยาณมิตรเป็นมงคลสูงสุด ความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ คือการที่ลูกได้พบครูที่ดี ในขณะที่ครูจำนวนมากเป็นคนดี แต่สังคมและระบบไม่สนับสนุนครูดี การปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูประบบให้ส่งเสริมครู เพื่อให้ครูเป็นกัลยาณมิตรของแผ่นดิน

การร่วมแสดงความคิดเห็นของคนทั้งแผ่นดิน
          การปฏิรูปการศึกษาเป็นกระบวนการทางการเมือง กระบวนการทางการเมืองคือการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ การที่คนทั้งประเทศร่วมกันออกความคิดเห็นว่าการศึกษามีปัญหาอย่างใด และควรแก้ไขอย่างไรจะยังให้เกิดพลังทางปัญญา และพลังทางสังคมที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา
ขอให้ช่วยกันถามและช่วยกันตอบว่า การศึกษามีปัญหาอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร

ตั้งสภาปฏิรูปการศึกษา
          วิกฤษทางเศรษกิจและสังคมของประเทศเกิดจากวิกฤติการณ์ทางปัญญาของชาติหากสังคมไทยยังอ่อนแอทางปัญญา จากวิกฤตจะคืบไปสู่หายนะ วิกฤตทางปัญญาเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้างอันถักทอหมักหมมยากต่อการเข้าใจและสางให้ออก การแก้ไขตกแต่งเล็ก ๆ น้อยๆ แก้ไขไม่ได้สัมคมไทยต้องการยกเครื่องทางปัญญา การปฏิรูปการศึกษาในที่นี้หมายถึง การยกเครื่องทางปัญญา การยกเครื่องทางปัญญาใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดหนี่ง แม้ฝ่ายการเมืองจะทำได้สำเร็จ แต่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางปัญญาของสังคมทั้งมวล สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่เคลื่อนพลังทางสัมคม เพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่และยาก ฉันใด สภาปฏิรูปการศึกษา ก็รวรเป็นกลไกที่คนไทยทั้งมวลร่วมใจกันยกเครื่องทางปัญญา ฉันนั้น
พรรคการเมืองใดที่เห็นว่าควรมีการปฏิรูปการศึกษา สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเสนอ พ.ร.บ. ตั้งสภาปฏิรูปการศึกษา

ตอนที่ 2 ปัญหาของการศึกษาไทย
*************************
           ปัญหาการศึกษาไทยในภาพใหญ่คือ การไม่สามารถเตรียมคนไทยให้สามารถเผชิญกับยุคสมัยแห่งการเปลียนแปลง ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ ขัดแย้ง ทำลายตัวเอง และวิกฤต

สังคมไทยในยุคสมัยแห่งการเปลียนแปลงและสภาพวิกฤต
          สังคมไทยในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มเปลี่ยนแปลงเร็ว และเร็วยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมหมู่บ้านกลายเป็นสังคมใหญ่ที่เชื่อมโยงกับโลกอย่างสลับซับซ้อนทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน ข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรม และการเมือง มีการเปลียนแปลงอย่างพยากรณ์ไม่ได้ เช่น การพังทลายของระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในปัจจุบัน

สังคมไทยกำลังเผชิญกับสภาวการณ์ใหม่ ๆ และปัญหาใหม่ ๆ ที่เรายังไม่คุ้นเคยมาก่อน
          การเผชิญสภาวการณ์ใหม่และปัญหาใหม่ ด้วยทรรศนะเก่า จิตสำนึกเก่า และทักษะเก่า ไม่สามารถทำให้สังคมไทยผนึกตัวเองไว้ในดุลยภาพได้ ยึงกำลังแตกสลาย เช่น การพังทลายของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพลังทลายของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพลังทลายของชีวิตครอบครัว การพลังทลายของชีวิตชุมชน และวัฒนธรรมไทย การอพยพหลบภัยทางเศรษฐกิจ การเอาผู้หญิงและเด็กมาเป็นโสภพณีเป็นแสน ๆ คน ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรง วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมองไม่เห็นทางออก ฯลฯ เหล่านี้คือสภาพวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย เป็นดังนี้เพราะ

สังคมไทยมีความอ่อนแอภายใน แล้วไปเชื่อมกับกระแสโลกซึ่่งหมุนเร็วและรุนแรง
          ความอ่อนแอภายในของสังคมไทยเกิดจากสิ่งที่ใหญ่มาก เสมือนถูกทับด้วยภูเขา หรือถูกครอบงำหรือครอบด้วยโครงสร้างที่ทำให้ไม่เกิดความสว่างทางปัญญา โครงสร้างมหึมาที่มาครอบสังคมไทยไม่ให้เกิดปัญญาได้แก่
          1. โครงสร้างทางสังคม ที่เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจ (ข้างบน) กับผู้ไม่มีอำนาจ (ข้างล่าง) ในลักษณะที่ข้างบนเอาเปรียบข้างล่างและทำให้ฐานล่างอ่อนแอ โครงสร้างอะไรที่ฐานล่างอ่อนแอย่อมทรุดพลังทลายลง
          2. โครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้อย แต่มีคอรัปชั่นมาก
          3. ความเคยชินจากสิ่งแวดล้อมในอดีต ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน มีทรัพยากรธรรมชาติมากพลเมืองน้อย ภยันอันตรายจากธรรมชาติน้อย ทำให้ประมาท ไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ในการสรรค์สร้าง ในความร่วมมือ บัดนี้สิ่งแวดล้อมเปลียนไปแล้ว แต่นิสัยเดิมยังอยู่ นิสัยเดิมไม่เข้ากับภาวะการณ์ใหม่ และปัญหาใหม่
          4. ทิฐิและทิศทางในการพัฒนา สังคมไทยรับเอาทิฐิวัตถุนิยมมาเป็นทิศทางในการพัฒนา ทำให้โลภะ โมหะ โทสะ อันเป็นอกุศลมูลเล่นสูงขึ้นแทนที่จะเป็ยปัญญาหรืออุศลมูล
           ทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างอันใหญ่ หนักหนาสาหัสสากรรจ์ ที่ครอบสังคมไทยไว้ไม่ให้มีสติปัญญาเพียงพอ จึงยังคงใช้ทรรศนะเก่า จิตสำนึกเก่า และทักษะเก่า ในสถานการณ์ใหม่
          คนไทยยังคงเห็นแคบ ๆ ใกล้ ๆ เช่นเห็นแก่ตัว เห็นแค่พรรค เห็นแก่พวก ขาดจิตสาธารณะ (Public Mind) จึงคดโกงกันง่าย ไม่รับผิดชอบ หลบหลีกเอาตัวรอดแบบศรีธนชัย ลักษณะอย่างนี้เมื่อต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เศรษกิจการเงิน ย่อมนำไปสู่สภาวะวิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
          ในวัฒนธรรมอำนาจมีการเรียนรู้น้อย คนมีอำนาจก็ใช้อำนาจสั่งไปเลยโดยไม่ต้องใช้ความรู้ คนไม่มีอำนาจก็รับทำตามคำสั่งโดยไม่ต้องเรียนรู้ สังคมอำนาจนิยมมีการเรียนรู้น้อย เมื่อมีการเรียนรู้น้อยก็ไม่เกิดปัญญาพอ เมื่อปัญญาไม่พอก็แก้ปัญหาไม่ได้ และนำไม่สู่ภาวะวิกฤต
          ในสังคมที่สลับซับซ้อนและมีปัญหายาก ๆ การใช้อำนาจแก้ปัญหาได้ผลน้อยลงๆ แต่ต้องใช้ความรู้ สังคมไทยยังขาดวัฒนธรรมและการใช้ความรู้ ยังเป็นสังคมใช้อำนาจ จึงแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ปัญหาสะสมมากขึ้นๆ จนวิกฤติ

นี่คือความอ่อนแอภายในของสังคมไทย
          สังคมที่มีความอ่อนแอ เมื่อไปเชื่อมกับกระแสโลกซึ่งหมุนเร็วและแรง ย่อมหมดแรง ล้ม หรืออาจตาย เสมือนคนป่วยที่ไม่แข็งแรง ไปวิ่งบนสายพานที่หมุนเร็วและแรง ย่อมไปไม่รอด
          การศึกษาไทยไม่มีพลังพอที่จะสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย โดยมีทรรศนะใหม่ จิตสำนึกใหม่และทักษะใหม่ ที่เผชิญกับสถานการณ์ใหม่และปัญหาใหม่ได้
          ที่พูดนี่มิใช่เพื่อตำหนิ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และยากสุดกำลัง และระบบการศึกษาก็อยู่ใต้โครงสร้างอำนาจที่มีปัญหานั้นเอง แต่ถ้าเราเข้าใจสภาพปัญหา ก็สามารถช่วยกันคิดยุทธศาสตร์การศึกษาที่มีพลังในการแก้ไขความอ่อนแอทั้งมวลได้โดยไม่ยากเกินไป

          ความทุกข์ 3 ประการในการศึกษาของไทย
          ปัญหาใหญ่ ๆ ของการศึกษาไทยมี 3 เรื่อง คือ

          1. ความเดือดร้อนแสนสาหัสในการแสดงหาและเข้าโรงเรียนดีๆ
          พ่อแม่มีความวิตกกังวลว่าทำอย่างไรลูกจะได้เข้าโรงเรียนดีๆ ต้องเดือนร้อนวิ่งเต้นเส้นสาย ฝากฝัง เสียเงนเสียงทอง พล่านกันหมดทั้งประเทศ
          เด็กมีความเครียดสูงในการที่จะสอบคัดเลือกเข้าสถานศึกษาดีๆ ต้องท่องหนังสือติวหามรุ่งหามค่ำ และเต็มไปด้วยความหวาดกลัว บางโรงเรียนเมื่อนักเรียนของตัวเองเรียนจบ ม.3 ต้องไปสอบตัวเลือกใหม่ว่าจะมีสิทธิเรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมของตนเองหรือไม่
          ระบบการศึกษาที่ก่อความทุกข์แสนสาหัสให้กับทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรมต่อคนทั้งแผ่นดิน
          เราควรมีโรงเรียนดีๆ มากพอ จนนักเรียนสามารถเลือกเข้าเรียนได้ง่ายที่โรงเรียนใกล้บ้าน

          2. การเรียนยาก ไม่สนุก น่าเบื่อ หรือการเรียนเป็นความทุกข์
         การเรียนควรจะมีความเป็นสุข ชวนให้นักเรียนรู้ แต่การศึกษาของเราจะเน้นการท่องจำจากตำราเป็นดุ้นๆ ซึ่งจำยาก เข้าใจยาก เสียเวลามาก และเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ไม่ชวนให้ติดใจ ทำให้เกลียดการศึกษา เมื่อหมดเงื่อนไขบังคับก็หยุดการเรียนรู้ การหยุดการเรียนรู้ของคนไทยทำให้สติปัญญาไม่เพียงพอ และนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม
          ควรทำให้การเรียนรมีความสุข สนุก ชวนให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

        3. การศึกษาผลิตคนที่ขาดคุณภาพ
          มนุษย์มีสมองที่มหัศจรรย์มาก สามารถเรียนรู้ที่จะบรรลุได้ดีทุกอย่าง คือรู้ความจริง แสวงหาความจริง ใช้ความจริง เพื่อความถูกต้องในการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกัน ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ควรจะ
          - มีความเอื้ออาทรต่อกัน
          - สามารถอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ หรือความสุข พัฒนาจิตใจหรือความดีให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ด้วยศักยภาพทางสมอง คนทุกคนควรจะมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์
แต่การศึกษาของเราเน้นที่การท่องจำเนื้อหาวิชาการต่างๆ  มากมาย จึงยากและมีความทุกข์ดังกล่าวในข้อ 2  และทำให้ขาดคุณภาพแห่งการคิดเป็น ทำเป็น เรียนเป็น และการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น

คุณภาพเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ
การขาดคุณภาพนำไปสู่ความยุ่งยากต่างๆ และนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางเศษฐกิจสังคม การที่ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพจึงเป็นภยันตรายใหญ่หลวงยิ่งนัก ปัญหาใหญ่ๆ ของการศึกษาทั้ง 3 เรื่องคือ
          - ความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชนในการแสวงหาโรงเรียนดีๆ
          - การเรียนที่ยากและมีความทุกข์
          - การศึกษาที่ผลิตคนขาดคุณภาพ
สิ่งเหล่านี้ทำร้ายสังคมไทยยิ่งนัก จึงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นอันตรายที่จะนำประเทศไปสู่สภาวะวิกฤติ สมควรต้องแก้ไขหรือปฏิรูปการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น