วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

โรคฉี่หนูอันตรายใต้สายฝน-Leptospirosis


โรคฉี่หนู Leptospirosis
             เข้าสู่หน้าฝน ไม้ที่ผ่านความแห้งแล้งขาดน้ำจนต้นเหี่ยวเฉา ความชุ่มฉ่ำจากสายฝนมาเยือนก็เริ่มผลิใบอ่อนชูช่อ พืชพันธุ์ล้มลุกเริ่มแตกหน่อ เมล็ดพันธุ์เริ่มงอกงาม หมุนกงล้อชีวิตให้เดินหน้าต่อ ชีวิตคนเราก็ไม่ต่างกับสิ่งเหล่านี้ทุกนาทีเรากำลังก้าวผ่านกาลเวลา เผชิญปัญหาต่อสู้ดิ้นรน ผ่านทุกข์ สุข โรคภัย เพื่อก้าวไปข้างหน้า
             ฤดูฝนในอีกมุมหนึ่งเชื้อโรคต่างๆ อาจจะแพร่เชื้อระบาดได้ง่าย ด้วยความชื้นแฉะ ในฤดูนี้มีโรคเกิดขึ้นได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคทางน้ำและอาหาร โรคทางเดินหายใจ น้ำกัดเท้า ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย และโรคฉี่หนูหรือโรค โรคเลปโตสไปโรซิส  เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน (Zoonosis) โรคนี้เราอาจเข้าใจผิดไปว่ามีเฉพาะหนูเท่านั้นที่แพร่เชื้อได้แต่สัตว์อื่นอย่างเช่น สุกร โค กระบือ สุนัข แมวฯ แต่หนู จะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิต และมีเปอร์เซ็นเป็นพาหะนำโรคสูงที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อที่อาศัยอยู่ในตัวหนูจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เชื้อปนเปื้อนอยู่ในน้ำขัง หรือผัก ปลา โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางรอยขีดข่วนเป็นแผล เนื้อเยื่ออ่อนบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานแม้ไม่มีบาดแผล ระยะฟักตัว 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร มีไข้อ่อนๆ ตาแดง กล้ามเนื้ออักเสบ ตัวเหลือง คอแห้ง ตับวาย ไตวาย ถึงเสียชีวิตได้

การทำลายเชื้อทำได้อย่างไร?
1. ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูงกว่า 8.0 หรือต่ำกว่า 6.5
2. ความเค็ม เช่น น้ำทะเล
3. ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือ 70 องศาเซลเซียส 10 วินาที และแสงแดดสามารถทำลายเชื้อได้
4. ความแห้งสามารถทำลายเชื้อได้ ในพื้นดินที่แห้ง เชื้อจะตายในไม่กี่ชั่วโมง
5. น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไอโอดีน คลอรีน และน้ำยาทำความสะอาด (Detergents) รวมทั้งสบู่สามารถฆ่าเชื้อได้

ข้อแนะนำ
1. ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื่อให้นำไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา และแยกสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ
2. ฉีดวัคซีนป้องกันฉี่หนูให้กับสัตว์เลี้ยงใกล้ชิด (แมวยังไม่มีวัคซีนโรคนี้)
3. หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เล่นน้ำขัง เจ้าของควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วย
4. ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย และกรงสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
5. กำจัดหนูบริเวณที่อยู่อาศัย ไร่ นา หรือที่ๆ มีโอกาสแพร่เชื้อ
6. ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบาย ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป
7. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
8. ฉีดวัคซีนป้องกันแก่คนงานและผู้ที่ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อโรค เป็นวิธีที่ใช้ในญี่ปุ่น จีน อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิสราเอล

ภาพประกอบ/เรียบเรียง : xsci

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น