ภาพจาก http://goo.gl/KwBhwp |
ฤดูฝนของทุกปีจะเริ่มกลางเดือนพฤษภาคม
เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดเข้าปกคลุมประเทศไทยซึ่งเป็น สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน และสิ้นสุดฤดูฝนลงประมาณกลางเดือนตุลาคม ฤดูแห่งความชุ่มชื้นเป็นจุดเริ่มของเกษตรกรรม ทำไร่นาสวน ที่เป็นอาชีพหลักของไทยเรา นอกจากคุณอนันต์จากความชุ่มชื้นของสายฝน ยังมีภัยธรรมชาติหลายอย่างเลยทีเดียวที่มาพร้อมกับฝน เช่นน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม พายุลมกรรโชกแรง ลูกเห็บ หรือโรคต่างๆ ที่มักเกิดในฤดูนี้ เป็นต้น เรียกว่ามีทั้งคุณทั้งโทษ ความพร้อมที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่เกิดความเสียหายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ภัยธรรมชาติรับมือได้ด้วยการเตรียมพร้อม
1. หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอ
2. ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากพบว่ามีต้นไม้ ป้ายโฆษณาและเสาไฟฟ้าอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการหักโค่น ให้แจ้งหน่วยงานที่เกียวข้องดำเนินการ
3. ฝนตกมากว่า 3 ชั่วโมงติดต่อกัน และยังคงมีแนวโน้มตกต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นสภาพผิดปกติ ควรหาภาชนะรองรับน้ำฝน เช่น กาละมัง วางตั้งไว้กลางแจ้งประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้ไม้บรรทัดไปวัดว่าสูงขึ้นมาจากก้นกาละมัง กี่เซนติเมตร หากสูงกว่า 5 เซนติเมตร จะต้องเตรียมพร้อมระวังภัยธรรมชาติ และคอยตรวจวัด ทุกชั่วโมง หากยังสูงเกิน 9 เซนติเมตร ดินจะซับน้ำไว้มากแล้ว
4. หากระดับน้ำสูงขึ้นผิดปกติ รวดเร็ว และน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีแดงไหลแรง มีเศษไม้ไหลลงมาด้วย เป็นสัญญาณของน้ำป่าไหลหลาก และมีดินโคลนไหลลงมาด้วย ถ้าหากอยู่ในที่ต่ำและเสี่ยงที่กระแสน้ำจะพัดให้รีบทำการอพยพไปที่สูง
5. ควรสำรอง อาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค วิทยุกระเป๋าหิ้ว ไฟฉาย ไว้ในบ้านและใช้ได้หากไฟฟ้าดับ
6. ไม่เข้าใกล้บริเวณที่มีเสาไฟฟ้าล้มหรือเสาไฟฟ้าขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วไหล หากมีต้นไม้หักโค่นเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาดให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมโดยด่วน
7. ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เกิดดินโคลนถล่มหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อป้องกันอันตรายจากการพังทลายซ้ำ
โรคที่มากับหน้าฝน
ซึ่งมีทั้งเชื้อโรคและโรคที่เกิดจากความเปียกชื้น เช่น
1. โรคไข้สมองอักเสบ
เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่น่ากลัวและร้ายแรงที่สุดมีชื่อว่า JAPANESE B ENCEPHALITIS หรือ JBE (เจบีอี) ไวรัสจะแพร่เชื้อในหมูโดยมีพาหนะนำเชื้อสู่คนคือ ยุงคิวเล็กซ์ เมื่อรับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัว 5-14 วัน จึงเริ่มแสดงอาการป่วย ปวดเมื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ซึม หงุดหงิดถึงชักเกร็งกระตุก จนอาจเป็นอัมพาตได้ และมีการทำลายสมอง กลายเป็นเจ้าหญิงหรือ เจ้าชายนิทราในที่สุด
วิธีป้องกัน คือ ทำลายแอ่งน้ำที่เพาะพันธุ์ยุง อย่าให้มีน้ำขัง ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันต้องอยู่ภายใต้การแนะนำ และดูแลอย่างใกล้ชิด
2. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ซึ่งอุจจาระที่ถ่ายออกมานั้นจะมีลักษณะเหลวจำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน หรือมากกว่าหรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูก หรือปนเลือด อย่างน้อย 1 ครั้ง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิต และหนอนพยาธิ
3. โรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ปอดบวม หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด มีหนองขัง บวม จึงทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ ทำให้การหายใจสะดุด เกิดอาการหายใจหอบ เหนื่อย อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงนับว่าเป็นโรคร้ายเฉียบพลันชนิดหนึ่ง
ควรระวังในการรับประทานเห็ดหน้าฝน
บางชนิดกินได้ บางชนิดมีพิษรุนแรง
ในช่วงฤดูฝนเห็ดจะพากันงอกงามกันหลากหลายชนิด บางชนิดกินได้คุ้นตากัน บางชนิดมีพิษรุนแรง ถึงชีวิตเลยก็มี และในช่วงนี้เราจะเห็นตลาดเห็ดคึกคักมีให้เลือกมากมายหลายราคา แต่ควรต้องให้ความสำคัญมากๆ ในการเลือกมารับประทาน อย่างเช่นเห็ดอันตรายดังนี้ เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก, เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน, เห็ดไข่ห่าน การเลือกรับประทานเห็ดก็ควรต้องใส่ใจ และใช้ความระมัดระวังให้มาก ถ้าไม่รู้จักเห็ดชนิดนั้นดีพอก็ไม่ควรบริโภคโดยเด็ดขาด หรือแม้จะรู้จักเห็ดชนิดนั้น แต่ถ้าขึ้นในป่าลึก หรือในเขตโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณที่มีแหล่งน้ำเสีย ก็ไม่ควรนำเห็ดนั้นมารับประทาน การรู้จักเลือกอย่างระมัดระวังจะช่วยให้ปลอดภัยจากเห็ดพิษได้
การช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษนั้น เบื้องต้น สามารถทำได้หลายวิธี ถ้ากินเห็ดพวกที่มีพิษไม่รุนแรง อาการเด่นชัดที่เห็นภายใน 1-2 ชม. คือ การอาเจียน ท้องเสีย วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น ถ้าสามารถทานได้ ก็ให้ทานน้ำเปล่า เพื่อจะช่วยเจือจาง หรือว่าอาจจะอาเจียนออกมาก็เป็นสิ่งที่ดี แล้วก็นำส่งโรงพยาบาล
ในฤดูฝนเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส หลายครั้งที่ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อชีิวิตและทรัพย์สิน และอีกมุมหนึ่งหลายชีวิตกำลังต้องการน้ำเพื่อต่อลมหายใจ เพื่อสืบสานสายพันธุ์หล่อเลี้ยงชีวิต เกษตรกรต้องพึ่งพาเม็ดฝนเพื่อการทำนา ทำไร่ เพาะปลูก อีกหนึ่งชีวิตงอกเงย อีกหลายชีวิตถูกทำลายลง เป็นฤดูกาล เป็นวัฏจักรอย่างนี้ตลอดไปขึ้นอยู่ว่าใครจะปรับตัวได้ดีที่สุดเท่านั้นเอง
xsci : เรียบเรียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น