วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ภูกระดึง ภูรูปหัวใจในเดือนแห่งความรัก



1. จุดเริ่มต้นและบทพิสูจน์
          เป็นก้าวแรกของการเดินทางชมธรรมชาติ เป็นระยะทางที่ต้องเดินพิสูจน์ความอดทน เป็นครั้งแรกที่จะตัดสินว่ารักภูแห่งนี้และไม่มีวันเบื่อที่จะมาอีกครั้ง หรือจะไม่กลับมาอีกเลย แต่สำหรับผมไม่มีคำว่าเบื่อที่จะกลับมาอีกครั้ง ครั้งเล่าที่มาเยือน หลายคนก็หลงรักภูแห่งนี้เช่นเดียวกับผม ภูรูปหัวใจแห่งนี้ คือหัวใจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีเสนห์ตราตรึงจนไม่อาจจะลืมได้เลย


          ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมผมถึงยังอยากไปซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่มีภาพติดตาในหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศที่พิเศษไม่เหมือนพื้นดินเบื้องล่างมีพรรณแมกไม้แปลกตา อากาศเย็นสบาย มีทรายละเอียดเหมือนชายหาด มีทะเลหมอก มีตะวันตกดินที่สวยตราตรึง มีสัตว์ป่า มีต้นไม้ชนิดเดียวกับแถบยุโรป มีน้ำตกหลายแห่ง เป็นต้นลำน้ำพอง มีความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเฉียบพลันหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน จากปกติเข้าสู่หนาวจนไม่กล้าอาบน้ำ ทั้งๆ ที่ตอนกลางวันอยากอาบน้ำมาก


ธรณีสัณฐาน และลักษณะเส้นทางเดินขึ้นภูกระดึง
ที่ตั้ง     จังหวัดเลย
พื้นที่     217,576.25 ไร่ (348.12 ตร.กม.)
สถาปนา     23 พฤศจิกายน 250
มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล 

ผานกเค้าเมื่อถึงที่นี่...ก็คือสัญญลักษณ์ที่บอกว่าถึงเขตภูกระดึงแล้ว อย่าลืมแวะไปซื้อมะพร้าวแก้วเลิศรสร้านเจ๊กิม


ความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางครั้งนี้
          ด้านสุขภาพ ควรต้องมีการฟิตซ้อมร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อรับได้กับการเดินระยะทางไกลประมาณ 40 กิโลเมตร ในเวลา 2 วันได้ เพราะฉะนั้นควรออกกำลังกายโดยการวิ่ง ด้านการเตรียมยา คลายกล้ามเนื้อ นีโอฟีแน็ค ยาแก้ปวดเส้นเอ็น ยาพารา ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ การเดินขึ้นภูต้องใช้เวลา 4 - 8 ชั่วโมง แล้วแต่ความฟิตหรือบางคนเสพบรรยากาศข้างทางจนเพลินก็จะถึงช้าหน่อย แต่การเดินระยะไกลขนาดนี้วิธีที่ดีที่สุดคือการถนอมตัวเองไม่ให้บาดเจ็บไปเสียก่อนรวมถึงการประหยัดพลังเผื่อวันเดินกลับด้วยครับ
          ระหว่างทาง นับตั้งแต่เริ่มก้าวผ่านประตูอุทยานเข้าสู่ภูกระดึงจุดแรกสุดเป็นเส้นทางวัดใจซึ่งเป็นเนินชัน 800 เมตร ชื่อว่า ซำแฮก ซึ่งก็แฮกจริงอย่างชื่อเรียกเมื่อขึ้นถึงซำนี้แล้วอาจต้องถามตัวเองซ้ำว่าเราจะไปต่อจริงหรือ หรือว่าจะกลับดี ซำนี้เป็นซ้ำแรกที่มีจุดขายของกิน ทั้งส้มตำ ข้าวปลา น้ำดื่มเย็น น้ำเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ ของใช้ให้บริการรวมถึงห้องน้ำเป็นการชาร์ตพลัง เดินชมบริเวณจุดชมวิวเห็นวิวตัวเมืองไกล ๆ ถ่ายรูปคู่กับป้าย ดูป้ายซ้ำถัดไปจากนั้นก็เดินทางต่อสู่ บทถัดไปซึ่งไม่ชันมากนัก


 ณ จุดนี้เขาทำอะไรกันบ้าง เมื่อมาถึงให้รีบทำธุระจุดนี้ให้เสร็จเรียบร้อย มีบริการดังนี้
1. ยื่นหลักฐานการจองที่พักผ่านระบบออนไลน์ คือเราจองผ่านเว็บของอุทยานแล้วไปจ่ายเงินที่ ธ.กรุงไทย จากนั้นเก็บใบเสร็จและส่วนหลักฐานมายื่นที่นี่
2. จองเต็นท์อุทยานขนาด 3 คนนอน หลังละ 255 บาท/คืน/หลัง และพื้นที่กางเต็น (เอาเต็นท์มาเอง) 30 บาท/คืน/หลัง บนภูกระดึงจะมีเต็นท์ของอุทยานให้บริการจำนวนมาก
3. ค่าบริการสำหรับบุคคลเด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท
4. ติดต่อจองบ้านพักอุทยานหลังใหญ่นอนได้หลายคนที่นี่ (ไม่มีจองผ่านอินเตอร์เน็ต)

รายการที่ไม่มีรายละเอียดบอกตามช่องบริการคือ
เต็นท์โดมใหญ่ขนาด 6 คน   ราคา   450   บาท / คืน
เต็นท์เคบิ้นขนาด 6 คน   ราคา   450   บาท / คืน

จุดสำหรับการทำประกาศนียบัตร และการรับรางวัลจากการเก็บขยะ 1 กิโลกรัมมาส่ง

บริเวณศุนย์บริการศรีฐาน จุดที่เราต้องจัดการธุระต่างๆ ก่อนขึ้นภู ด้านหน้าอาคารนี้เป็นลานจอดรถรองรับรถได้ 500 คัน


จุดนี้ให้บริการจองลูกหาบสัมภาระ สำหรับผู้ที่ไม่อยากแบกขึ้นเองหรืแบกไม่ไหว ค่าบริการลูกหาบ 30 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ควรมาติดต่อรับบริการตั้งแต่ 6 โมงเช้า หรือบางครั้งคิวอาจจะยาวตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ขั้นตอนคือ ซื้อแท็กติดกระเป๋าใบละ 10 บาท แล้วค่อยมาชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าบริการ กระเป๋าทุกใบต้องติดแท็ก


สุดท้ายเมื่อเสร็จภาระกิจต่าง ๆ เติมพลัง อาหาร น้ำ กาแฟลงท้องเรียบร้อย สลัดเสื้อกันหนาวออก เหลือเพียงเสื้อผ้าโล่งโปร่งและพอจะกันแดดได้ มีหมวกซัก 1 ใบ กล้องถ่ายรูป รองเท้าแข็งแรงทะทัดทะแมง พร้อมลุด ประตูเปิดอ้าซ่ารอผู้กล้ามาพิชิต
 
บันทึกเวลาขึ้นตรงป้อมทางขึ้นเสร็จเรียบร้อยเราก็เริ่มเดินทางกัน รูปนี้หลังป้ายประตูทางขึ้นภู

เนินหน้าฝาที่เราต้องพยายามปีนป่าย ทำให้เรานึกถึงคำว่า ระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง


บางช่วงมีรั่วเหล็กให้เกาะพยุงตัว คนที่มาครั้งแรกๆ  มักโชว์ความฟิตด้วยการเดินแกมวิ่ง แต่หลังจากนั้นอาจรู้ซึ้ง

ส้นเท้าทุกคู่มุ่งสู่ซำแฮก น่าสงสัย น่าแปลกใจว่าทำไมคนถึงแห่กันมาอดทนลำบาก....ทำไม คำตอบนั้นอยู่ในใจผู้เดินทางผ่านมาแล้ว มันจะตราตรึง มันจะเป็นเรื่องเล่า...มันจะไม่ลืมเลือน

บางครั้งที่เหนื่อยล้า เมื่อได้สะดุดตากับสิ่งหนึ่งแล้วทำให้เราต้องทบทวนตัวเองว่า...แน่ใจหรือที่จะยอมแพ้

ถึงแล้วซำแฮก ส้นเท้าที่ก้าวผ่านเดินทางมาถึงซำแฮกต้นไม้ใบหายหมดเพราะปลายฤดูหนาวแล้วในเดือน ก.พ. อากาศจึงร้อนจ้า

จุดชมวิวทำใจหวิว ที่ซำแฮก

แมวซำแฮกรอตอนรับผู้มาเยือนด้วยความเป็นมิตร

หลายคนมาถึงปุ๊บสิ่งแรกคือวิ่งหาน้ำเย็น เกลือแร่ ผลไม้รสหวาน หรืออาหารจานหนักก็มีบริการ ห้องน้ำห้องท่าก็มีในจุดนี้

เติมพลังเรียบร้อยก็มุ่งหน้าสู่ซำต่อไป ตอนนี้อยู่ที่ซำแฮก ต่อไป ซำกกกอกและซำบอน

เสร็จกิจก็เดินทางกันต่อ 700 เมตร (แม้ว) ข้างหน้าคือ ซำบอน

ลูกหาบคือสัญญลักษณ์แห่งความอึดแต่ละคนแบกน้ำหนัก 50 กิโล ขึ้นไปทั้งนั้น เราเองเดินตัวเปล่ายังแทบแย่...


บันไดสลับฟันปลาไต่ขึ้นฝาชัน ให้เหล่านักท่องเที่ยวหอบสังขารขึ้นได้สะดวกโยธินลิ้นห้อย

ผ่านผาสูงชันก็เริ่มชันน้อยลง...เป็นทางลาดเดินง่ายขึ้น ตรงนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ถ้าเป็นช่วง ธันวา-มกรา แถวนี้ยังมีร่มเงาไม้เย็นสบาย

ถึงจุดหนึ่งเหล่าคนเหล็กลูกหาบก็พักผ่อนคลายทานข้าวปลาอาหารประจุพลังเพื่อเดินต่อ...และเดินถึงก่อนคนธรรมดาสามัญตัวเปล่าซะอีก :-D


          ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็แวะหาอาหารเติมพลังกันเมนูที่เห็นในทุกซำก็คือไข่ปิ้งอุ่นๆ หรืออาหารจานด่วนก็มี ราคาเพิ่มขึ้นตามระดับความสูง แต่ถ้าได้รับรู้ถึงความเหน็ดเหนื่อยในการขนส่งแล้วนี่คือราคาที่ไม่แพงเลย และเมื่อเทียบกับอาหารบนพื้นที่ทั่วไปที่ขายราคาเดียวกันนี้...อาหารบนภูกระดึงก็ยิ่งถูกลงไปอีก...หรือถ้าอยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่นั้นก็ลองหิ้วอาหารขึ้นมาทำกินเองลองดูนะครับ 


ปางกกค่าจุดพักจุดใหญ่อีกที่หนึ่งห้องน้ำจุดนี้ดีที่สุดกว่าทุกซำ แต่!!! ช่วงเดือน ก.พ. ไม่ค่อยมีน้ำครับ


ซำกกโดน เป็นจุดพักซำสุดท้ายให้เติมพลังให้เต็มที่ก่อนปืนขึ้นผาสูงชันสู่หลังแป หลังแปคือช่วงสุดท้ายก่อนเหยียบพื้นราบบนภูกระดึง เมื่อผ่านไปได้ถือว่าพิชิตภูกระดึงได้แล้ว จะมีป้ายต้อนรับสู่ภุกระดึงที่มหาชนทุกคนต้องถ่ายคู่กับป้ายนี้อย่างภาคภูมิ นับจากซำกกโดนถึงที่ทำการอุทยานวังกวางเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร นับจากนี้ไม่มีร้านค้าไม่มีอาหารไม่มีน้ำดื่มขาย

การปืนป่ายขึ้นเนินหิน ซอกหลืบหินก้อนใหญ่ ขึ้นบันไดธรรมชาติ ขึ้นบันไดที่มนุษย์สร้างขึ้นสมบุกสมบัน

ทางแคบขึ้นชันขึ้น บ้างก็พึ่งพาไม้เท้า...บ้างก็คิดถอดใจแต่กลับไม่ได้

ที่นี่ไม่เหมาะเลยสำหรับคนรักสบาย ใจร้อน ใจเสาะ ใจไม่สู้ แนะนำว่าไม่ต้องมา :-D นะครับ

ที่นี่เหมาะสำหรับคนลุยๆ ใจสู้ ใจเย็น รักธรรมชาติ ถึงไหนถึงกัน การเที่ยวภูกระดึงไม่ใช่การพักผ่อน แต่เป็นการดื่มด่ำธรรมชาติ

สำหรับคนที่เดินไม่ไหวมีเกี้ยวให้บริการใช้ลูกหาบสองคนหาม สนนราคา 3,000 บาท หารแล้วเท่ากับจ้างลูกหาบคนละ 1,500 แต่หวาดเสียวน่าดูชมเลยทีเดียว ไม่รู้จะสะดุดล้มตอนไหนแล้วกลิ้งลงเขาไปไกลแค่ไหน แค่คิดก็น่ากลัว :-D

เดินตัวเปล่ายังเหนื่อยแทบแย่แต่ลูกหาบแบกน้ำหนัก 70 กิโลไปด้วยไม่ธรรมดา นักกีฬาคนไหนมั่นใจในความอึดทดสอบตัวเองได้ที่นี่นะครับ :-D

2. เหยียบแผ่นดินที่ไม่ธรรมดา

และเป้าหมายนั้นก็อยู่ตรงหน้า ป้ายนี้คือสัญลักษณ์ผู้พิชิตจากที่เหนื่อยกลายเป็นหายเหนื่อยแบบปลิดทิ้งทันที ภาพนี้ถึงกับต้องต่อคิวกันยาวเลยทีเดียว

ตรงข้ามกับป้ายภูกระดึง ก็คือเส้นทางตรงดิ่งมุ่งหน้าไปที่ทำการอุทยานวังกวาง เป็นทางเรียบพื้นทรายละเอียดดุจเดินบนพรมแห่งสรวงสวรรค์สุดแสนจะนุ่มเท้า ระยะทางจากจุดนี้ไป 3 กิโลแม้ว ก็ถึงที่ทำการอุทยานวังกวาง (วังกวางคือที่ทำการอุทยานภูกระดึงด้านบนภู / ศรีฐานก็คือที่ทำการอุทยานภูกระดึงพื้นล่าง)
เส้นทางที่ยาวสุดตาทำให้รู้ว่ามนุษย์นี้ตัวเล็กดุจฝุ่นผงแล้วเราจะทะเลาะกันอยู่ใยเล่าเอ๋ย เดินตรงไปเจอโค้งมีต้นไม้ใหญ่ก็นึกว่าถึงแล้ว...แต่!!! ต้องดีใจเก้อ....เพราะนั่นมันแค่ครึ่งทาง
ระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทางอากาศเย็นๆ แต่แสงแดดจ้าต้นสนโบกพลิ้่วส่งเสียงหวีดหวิวเมื่อโดนลมพัดโบก

เด็กน้อยตัวเล็กนิดเดียวเป็นตัวอย่างของการสู้ชีวิต รู้คุณค่าเงิน รู้จักความอดทน ขยัน ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ตรงนี้เป็นทางแยกไปผานกแอ่นเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนตี 5 รุ่งเช้าเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศหนาวเหน็บและทะเลหมอก

และสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าก็คือที่ทำการอุทยานวังกวาง...เป้าหมายของเรา  *ภายในที่ทำการอุทยานมีที่ชาร์ตแบต Power Bank ชาร์ตจนเต็มครั้งละ 20 บาทให้บริการ ถ้าให้สะดวกไม่ขาดแคลนพลังงานก็พก Power Bank ไปด้วยนะครับ

และมองไปรอบๆ ช่วงเดือน ก.พ. เต็นจะถูกกางไว้ไม่มากไม่เต็มพื้นที่ แต่หากเป็นช่วง ธ.ค.- ม.ค. ช่วงนี้ละก็เต็นท์เต็มลานที่นี่เลย
มองไปฝั่งตลาดภูกระดึงตลาดที่สูงสุดในประเทศไทย

สีเขียวๆ ทางขวามือนั่นคือห้องน้ำมีหลายหลังแต่อาจจะเจอกวางเจ้าถิ่นเดินเล่นอยู่แถวนั้น

เมื่อเดินไปดูใกล้ๆ เราจะพบกับเจ้าถิ่นออกมาหากินอยู่แถวนั้นจริงๆ


ฝั่งตรงข้ามกับรูปด้านบนก็เป็นร้านอาหารเรียงราย เบื้องหลังต้นสนอายุ 200 กว่าปี

ส่องให้เห็นกันชัดๆ ว่าต้นนี้อายุยืนไม่ธรรมดา...มนุษย์เพียงแค่ฝุ่นผง ที่บ้างครั้งไปรังแกปู่ทวดต้นไม้

หลังจากยืนงงได้พักนึงสูดลมหายใจ และสำรวจสัมภาระว่ามาถึงหรือยังแต่ผมเดินไวจึงต้องรอ ขณะที่รอก็จัดการเรื่องที่พัก กรณีเช่าเต็นท์อุทยานก็ให้ไปหาตำแหน่งเต็นท์ที่ได้จองไว้ จากนั้นไปเช่าแผ่นรองนอน แผ่นละ 20 บาท/คืน  ผ้าห่ม 30 บาทผืน/คืน  หมอน 30 บาท/ใบ/คืน  ในที่ทำการอุทยาน อย่าลืมนะครับเพราะกลางคืนหนาวต่ำกว่า 10 องศา การนอนแบบไม่มีแผ่นรองนอนหรือถุงนอนหรือผ้าห่ม คุณคงได้สัมผัสความหนาวอันล้ำลึกอย่างแน่นอน
เต็นท์เคบิ้นขนาด 6 คน 450 บาท / หลัง / คืน จองผ่านเว็บอุทยานได้


เต็นท์เคบิ้น ด้านหน้า ปัจจุบันเอาเต็นท์ 3 คนไปกางซ้อนไว้ข้างในเหมาะสำหรับฤดูฝน แต่ถ้าเป็นหน้าหนาวเหมาะสำหรับคนที่ไม่สู้ความหนาวเต็นสองชั้นกันความเย็นได้ดีกว่าแน่นอน

หรือแบบบ้านเช่ากันเป็นหลังก็มีสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และความสะดวกของห้องน้ำ จำนวน 21 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 170 คน  แต่ควรระวังฟืนไฟให้ดีเคยมีนักท่องเที่ยวทำไฟไหม้วอดกันไปเหมือนกัน

3. ตามล่าแสงที่ผาหมากดูก
          เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจเรื่องที่นอนที่พักแล้ว ยังมีเวลาเหลือทันที่จะไปชมพระอาทิตย์ตกในจุดที่ใกล้ที่สุดคือผาหมากดูก ในระยะทาง 2 กม. ประมาณการในหัวนับว่าไม่ไกล แต่ถ้าได้เดินในระยะทาง 2 กม. ที่นี่ นั้นอาจแอบคิดว่านี่มันน่าจะ 4 กม. มากกว่านะ...ทำไมระยะทางที่นี่มันยาวกว่าปกติ...หรืออย่างไรแต่สิ่งที่จะทำให้ระยะทางไกลนั้นไม่เป็นปัญหาคือวิวสองข้างทางสวยงามแปลกตากับอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่น...ทำให้รู้สึกว่านี่มันไม่ใช่แผ่นดินธรรมดามันเป็นพื้นที่พิเศษ..และเราต้องมาที่นี่อีกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าแน่นอน

สามโมงเย็นเดินทางไปชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก ระยะทาง 2 กิโลแม้ว


บรรยากาศระหว่างทางไปผาหมากดูกไม่ใช่ 2 กิโล ธรรมดาสำหรับที่นี่....มันยาวไกลกว่าปกติมากๆ

ระหว่างทางเจอแนวกันไฟใหญ่โตตอนแรกคิดว่าเป็นสนามบิน เพราะแนวกันไฟนี้ทอดตัวยาวเป็นกิโล


และผาหมากดูกก็อยู่เบื้องหน้านั้นแล้วระหว่างทางทรายเริ่มไม่จับตัวเดินตะกุยทรายเรื่ยวแรงหายไปกับผืนทรายนั้นเยอะ แต่คนที่ปั่นจักรยานฝ่าทรายจะลำบากกว่าหลายเท่าตัว
ร้านค้ารอผู้คนมาอุดหนุน ข้าวจี่ร้านสุดท้ายริมฝั่งขวาสุดอร่อยจนลืมกลับเต็นท์เลยทีเดียว

และก็มาทันพระอาทิตย์คล้อยต่ำซึ่งวันนั้นฟ้าไม่เปิดมีเมฆปกปิดมิดชิดจนเกือบจะกลับ...อยู่ๆ เมฆก็แหวกออกให้พระอาทิตย์โผล่ไม่ถึง 10 นาที ผมตกใจหยิบกล้องมากดไปสองสามภาพได้ผลตามที่เห็น...มีใหม่หัดถ่ายครับ คิดซะว่ามาเรียนภาคสนาม

4. เมื่อเจ้าถิ่นมาเดินตลากลางคืน

ที่ทำการอุทยานวังกวางบนภูกระดึงมีร้านค้ามากมายเป็นตลาดกลางป่าที่หนาวเหน็บเปิดตั้งแต่ตี 5 จนถึง 5 ทุ่ม กลางคืนสว่างสไวไปด้วยแสงไฟพลังงานแสงอาทิตย์

ตลาดคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของฝาก


กิจกรรมยามค่ำคืนภายใต้อากาศไม่เกิน 10 องศา สุดโรแมนติคเหมาะแก่การกินหมูกระทะหรือจิ้มจุ่ม...ได้ผิงไฟอุ่นๆ จากเตาไปในตัว เราจะได้เห็นภาพหมูกระทะควันโขมง...ชวนประทับใจ *หมูกระทะชุดละ 500 บาท คุ้มค่าสมราคา

หรืออาหารจานเดียวราดบนข้าวร้อนๆ ก็มีให้บริการ อาหารอื่นๆ  อีกมากมาย...ที่เห็นกันบ่อยจนเป็นเอกลักษณ์ก็คือ ข้าวจี่

ข้าวจี่ที่พูดถึงหน้าตาอาจใกล้เคียงกันทุกร้านแต่รสชาติต่างกัน...บางร้านอร่อยจนติดใจ

บ้างก็นั่งกลางลานเน้นดื่มด่ำบรรยากาศ พร้อมกวางเจ้าถิ่นเดินป้วนเปี้ยนต้อนรับแขกอย่างสนิทสนมคุ้นเคย

ตลาดอีกหนึ่งมุมมอง

กวางเจ้าถิ่นออกมาหากิน

คุ้นมากแบบลูบหัวได้จับตัวได้ดูไปก็คล้ายๆ ลูกวัว

5. เริ่มต้นการสำรวจภู

รุ่งเช้าจัดการธุระส่วนตัว ทานอาหารเสร็จเราก็เดินทางตามแผนที่ได้วางไว้ 7.30 น. ก็คือเดินไปน้ำตก ตัดออกผานาน้อย เดินเลียบผามุ่งหน้าไปผาหล่มสักทันพระอาทิตย์ตกพอดี

ข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวขึ้นภูกระดึง

ค่าเช่าเต็นท์
- เต็นท์โดมขนาด 3 คน ราคา 225 บาท / คืน
- เต็นท์โดมใหญ่ขนาด 6 คน ราคา 450 บาท / คืน
- ค่าเช่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 / คน / คืน
- เว็บสำหรับจองเต็นท์กับทางอุทยาน
 http://www.dnp.go.th/parkreserve/tent_reservation.asp?lg=1

เครื่องนอนที่มีบริการให้เช่า
- ถุงนอน ราคาถุงละ 30 บาท / คืน
- แผ่นรองนอน ราคาแผ่นละ 20 บาท / คืน
- หมอน ราคาใบละ 10 บาท / คืน
- ผ้าห่ม(เล็ก) ราคาผืนละ 30 บาท / คืน
- ผ้าห่ม(ใหญ่ TOTO อย่างหนา) ราคาใบละ 50 บาท / คืน
ค่าเข้าอุทยาน
- คนละ 40 บาท
ค่าจ้างลูกหาบ
- กิโลกรัมละ 30 บาท
ค่ารถสองแถวเข้าอุทยานจากหน้าร้านเจ๊กิม
- ถ้าเหมามาแบบไม่รอคนอื่นราคา 300 บาท
- ถ้ารอคนอื่นด้วยครบ 10 คน รถออกทันที ก็ตกคนละ 30 บาท
ค่าอาหารการกินข้างบน
- ราคาอาหารข้างบน 60 บาท / จาน
- น้ำดื่ม 1.5 ลิตร ขวดใหญ่ 50 บาท / ขวด (อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ เพราะขึ้นไปทีไรซื้อแต่ขวดใหญ่สุด 180 บาทอะครับ)

เพิ่มเติม
- สำหรับคนที่นำรถมาจะเสียค่าเข้าอุทยาน(เหมือนกับเป็นค่าที่จอดรถแหละครับ) คันละ 30 บาทครับ
สิ่งที่ต้องเตรียม
1. รองเท้า
- ถ้าไปตุลาคม (แนะนำรองเท้าที่มีดอกยางลึกๆ และแห้งไวครับ เพราะจะทำให้กันลื่นได้)
- ถ้าไปช่วงอื่น เป็นรองเท้าที่ใส่สบายและเคยใส่มาสักระยะแล้ว ไม่ควรเป็นรองเท้าใหม่เพราะอาจโดนรองเท้ากัดได้
2. ยาคลายกล้ามเนื้อ นอจิสิค หรือ ยี่ห้ออื่นก็ได้ครับ
3. ยานวด ผมแนะนำยาสเปรย์ที่พวกนักกีฬาใช้กันครับ หาซื้อได้ที่โลตัสครับ กระป๋องสีน้ำๆ หรือสีเหลือง ก็ได้เช่นกัน ถ้าหาไม่เจอลองถามเค้าว่าสเปรย์คลายกล้ามเนื้อครับ
4. ไฟฉาย อันนี้ซื้อควรมีสัก 2-3 อันก็ดีครับ ไว้ในเต็นท์สักอันห้อยไว้เผื่อเวลาจะหาของในเต็นท์
5. รองเท้าแตะไว้ใส่ตอนอยู่ที่ศูนย์วังกวางเวลาไปเข้าห้องน้ำหรือไปร้านค้าครับ เป็นการพักเท้าไปในตัว
6. หมวก ไว้ใส่กันแดดครับ แดดข้างบนแรงแต่อากาศเย็นเพราะมีลมพัดมาตลอดครับ
7. ปลอกแขน หรือ เสื้อแขนยาว (ถ้าไม่กลัวแดด แขนสั้น สบายๆ)
8. เสื้อกันหนาว ถ้าไปช่วงหน้าหนาวเอาแบบหนาก็ดีครับ ถ้าไม่ใช่ช่วงหน้าหนาวอากาศกลางคืนบนภูจะเย็นตลอดฤดูกาล ก็เอาแบบบางๆ ไป
9. ทิชชูเปียกและแห้ง เผื่อไว้ข้าศึกมากลางทางครับ
(สำหรับคนที่กลัวทาก)
1. ถุงกันทาก
- ถ้าไปช่วงตั้งแต่ปลาย พฤศจิกายน - เมษายน พื้นดินจะค่อยข้างแห้งแล้ว ทากอาจจะไม่ค่อยเจอหรือเจอน้อยมากครับ
2. สเปรย์ OFF ฉีดใส่ขาไว้กันทากเกาะ หรือโดนเกาะแล้วฉีดใส่ตัวทากเค้าจะหลุดไปเอง
Credit : facebook.com/groups/LovePhukradung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น