ภาพประกอบ จรวดร่อนโทมาฮอว์ค ความเร็ว 880 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
สำหรับอาวุธเด็ดของกองทัพสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางการทหารระดับโลกนั้น คงหนีไม่พ้นเจ้า "โทมาฮอว์ค" ขีปนาวุธร่อนนำวิถีสัญชาติอเมริกันพันธุ์แท้ ฝีมือการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ตั้งแต่สมัยช่วงสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1970 ปัจจุบันผลิตโดยบริษัทเรย์เธียน และบางส่วนผลิตจากโรงงานของบริษัทแมคโดนัลด์ ดักกลาส ขณะนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของ โบอิ้ง ดีเฟนส์ สเปซ แอนด์ ซิเคียวริตี้ มีพิษสงร้ายกาจในการทำลายล้าง แม่นยำ เริ่มประจำการในกองทัพตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 จนถึงปัจจุบัน สนนราคาลูกละประมาณ 22 ล้านบาท (ราคาในปี 2011) มูลค่าเท่ากับรถสปอร์ตหรูที่เศรษฐีชาวไทยชอบขับขี่
ทั้งนี้จรวดโทมาฮอว์คถูกนำมาใช้งานครั้งแรกอย่างเป็นทางการในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ยิงโทมาฮอว์คจากเรือประจัญบานชั้นมิสซูรี ได้แก่ ยูเอสเอส มิสซูรี ยูเอสเอสวิสคอนซิน และยูเอสเอสไอโอวา โดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้เสนอภาพลูกจรวดโทมาฮอว์คพุ่งออกจากเรือทะยานเป็นเส้นตรงไปยังชายฝั่งอิรัก และภาพของซีเอ็นเอ็นที่รายงานภาพสดๆ จากอิรักเห็นโทมาฮอว์คพุ่งผ่านหน้ากล้องเข้าใส่เป้าหมายกลางกรุงแบกแดด
รวมทั้งผลงานล่าสุดของโทมาฮอว์ค ที่ทร.สหรัฐและราชนาวีอังกฤษ ยิงโทมาฮอว์ค 112 ลูกถล่มเข้าใส่เป้าหมายทางทหารที่เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศของลิเบีย ฐานยิงขีปนาวุธเอสเอ-5 (แซม-5) สถานีเรดาร์เตือนภัยตามแนวชายฝั่ง รวมถึงเป้าหมายทางทหารอื่นอีกหลายแห่ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้กับกำลังทางอากาศของนานาชาติเข้าปฏิบัติการภารกิจครอบครองน่านฟ้าในปฏิบัติการ "โอดิสซีย์ ดอว์น" หรือ รุ่งอรุณแห่งการผจญภัยที่ยาวนาน
ข้อมูลจำเพาะ
- น้ำหนัก 2,900 ปอนด์ หรือ 1,300 กิโลกรัม
- ความยาว เมื่อติดบูสเตอร์ขับดัน 6.25 เมตร และไม่ติดบูสเตอร์ยาว5.56 เมตร
- ความสูง 20.4 นิ้ว
- หัวรบ ดินระเบิด 1,000 ปอนด์ (450 กก.) หรือ ลูกระเบิดลูกปราย BLU-97/B หรือ หัวรบนิวเคลียร์แบบ W80 200 กิโลตัน
- เครื่องยนต์ วิลเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล F107-WR-402 เทอร์โบแฟน
- ความกว้างของปีก 8 ฟุต 9 น้ิว
- ระยะทำการ ของขีปนาวุธ 2,500 กิโลเมตร
- ความเร็ว 880 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
- ระบบนำวิถี GPS (ระบบพิกัดดาวเทียม) Terrain Contour Matching หรือ TERCOM ที่เป็นการคำนวณพิกัดกำหนดตำแหน่ง รวมทั้ง Digital Scene Matching Area Correlator (DSMAC)
- แฟลตฟอร์มที่ใช้ยิง สามารถยิงได้จากระบบแท่นยิงแนวดิ่ง หรือ VLS และท่อยิงตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำ
สำหรับโทมาฮอว์คมีมากมายหลากหลายรุ่น ตามรูปแบบการใช้งาน ได้แก่
AGM-109H/L เป็นขีปนาวุธอากาศ-สู่-พื้น ระยะกลาง (MRASM) มีระยะยิงสั้นที่สุดใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต แต่ไม่เคยนำมาใช้งาน
BGM-109A Tomahawk ขีปนาวุธอากาศ-สู่-พื้นหัวรบนิวเคลียร์ (TLAM-N) หัวรบนิวเคลียร์แบบ W80 200 กิโลตัน ยังไม่เคยเอามาใช้ในสงคราม
BGM-109C Tomahawk ขีปนาวุธพื้น-สู่-พื้นหัวรบดินระเบิด (TLAM-C) นำวิถีด้วยระบบจีพีเอส เคยนำเอามาใช้งานในสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามปลดปล่อยอิรัก และอัฟกานิสถาน
BGM-109D Tomahawk Land ขีปนาวุธพื้น-สู่-พื้นหัวรบย่อย (TLAM-D) เป็นโทมาฮอว์คที่บรรทุกหัวรบย่อย สำหรับการทำลายกองยานพาหนะ สิ่งปลูกสร้าง โดยจะมีการสลัดตัวเหนือเป้าหมาย
BGM-109G Gryphon Ground Launched Cruise Missile (GLCM) ถูกถอนออกมาจากการประจำการ
RGM/UGM-109B Tomahawk ขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ (TASM) นำวิถีด้วยระบบเรดาร์ต่อต้านเรือผิวน้ำ
RGM/UGM-109E Tomahawk ขีปนาวุธพื้น-สู่-พื้นหัวรบ(TLAM Block IV) เป็นโทมาฮอว์ครุ่นใหม่ ที่มีการปรับปรุงมาจากรุ่น TLAM-C ทั้งในส่วนของเครื่องยนต์ประหยัดเชื้อเพลง ใช้โจมตีระยะไกลได้ ระบบนำวิถีด้วยดาวเทียมที่แม่นยำมากขึ้น สามารถโจมตีได้แม้แต่เป้าที่มีการเคลื่อนไหว
ภาพประกอบ เรือพิฆาตชั้นอาห์เลย์เบิร์ค ติดตั้งระบบเอจีส (Aegis) ที่สามารถยิงโทมาฮอว์คได้
โทมาฮอว์ค มีประจำการในกองทัพเรือสหรัฐ โดยสามารถยิงได้จากเรือพิฆาตชั้นอาห์เลย์เบิร์ค เรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถี ชั้น ไทคอนเดอโรกา ที่ทั้ง 2 แบบมีระบบเรดาร์ตรวจจับแบบ เอจีส (Aegis) ด้วยท่อยิงแนวดิ่ง หรือ VLS รวมทั้งการยิงจาก Capsule Launch Systems (CLS) โดยเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ พลังงานนิวเคลียร์ชั้น ลอสแองเจลลิส เป็นต้น
นอกจากนี้โทมาฮอว์ค ยังมีประจำการในราชนาวีอังกฤษ โดยสามารถยิงโทมาฮอว์คจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และ เรือดำน้ำโจมตีรุ่นใหม่ ที่มีอยู่ในประจำการ หลังจากที่จัดซื้อโทมาฮอว์คมาจากสหรัฐฯ นอกจากนี้กองทัพเรือของสเปน และเนเธอร์แลนด์ ยังให้ความสนใจที่จะซื้อไปใช้งานแต่ก็ได้ยกเลิกการจัดซื้อไปในปี 2009 และ 2007
ที่มา : facebook.com/Weapons.Technology/posts/213427675490885:0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น