หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง การประชุมที่กรุงเจนีวาในปี 1925 ได้มีมติห้ามใช้อาวุธเคมี แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงมีการใช้อาวุธเคมีในการสังหารมนุษย์โดยเฉพาะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมัน และหลังจากนั้นอาวุธเคมีก็กลายเป็นอุปกรณ์ของผู้ก่อการร้ายและรัฐอีกหลายรัฐ นานาชาติในประชาคมโลกต่างเห็นความน่ากลัวของการใช้อาวุธเคมี ฉะนั้นการประชุมวาระอาวุธเคมีจึงได้มีมติสั่งห้ามการใช้, การผลิต, การกักเก็บอาวุธเคมีตั้งแต่ปี 1992-1993 และในที่สุด OPCW ก็ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1997 เพื่อรับผิดชอบหน้าที่บังคับใช้มติในทางปฏิบัติ ประเทศที่ลงนามในมติวาระอาวุธเคมีในปี 1993 จึงเป็นสมาชิกของ OPCW โดยอัตโนมัติ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย) ปัจจุบัน OPCW มีประเทศสมาชิกแล้ว 190 ประเทศ (ยกเว้นเมียนม่าร์และอิสราเอลซึ่งลงนามแต่ไม่เห็นชอบต่อมติ)
เหตุการณ์การใช้อาวุธเคมีต่อพลเรือนในประเทศซีเรียเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาสร้างความตระหนกแก่สังคมโลก คณะกรรมการรางวัลโนเบลฯ จึงมอบรางวัลให้แก่ OPCW โดยมีจุดประสงค์ในทางหนึ่งเพื่อเน้นให้ทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของอาวุธเคมีและเอาจริงเอาจังในการกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมดทั้งในประเทศสมาชิกและประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก (การประชุมนานาชาติวาระการปลดอาวุธเคมีได้เคยมีมติขีดเส้นตาย 29 เมษายน 2012 ให้ทุกประเทศสมาชิกทำลายอาวุธเคมีที่ครอบครองทั้งหมดให้สิ้น แต่เมื่อเส้นตายเดือนเมษายน 2012 ผ่านไป บางประเทศสมาชิก เช่น ลิเบีย, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ก็ออกมายอมรับว่าไม่สามารถกำจัดอาวุธเคมีได้ทันกำหนดเส้นตายและขอเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปอีก --- ที่น่าสนใจคือ 3 ประเทศสมาชิกตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นประเทศสมาชิกใน Executive Council ของ OPCW ด้วย)
ที่มา - Nobel Prize Press Release, jusci
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น