วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

thundercloud-สายฟ้าคำราม เมื่อยามฝนโปรย


ภาพลักษณะการเกิดฟ้าแลบฟ้าฝ่า  credit: OutdoorEd.com
         ขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองจะเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก มีลมกระโชกแรงเป็นครั้ง คราว โดยในรอบ 1 ปี ทั่วโลกมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นถึง 16 ล้านครั้ง โดยเฉพาะในเขตละติจูดสูง และในเมืองที่อากาศร้อนชื้นจะมีจำนวนวันที่มีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดได้ถึง 80 - 160 วันต่อปี สำหรับประเทศไทยมักเกิดมากในเดือน เมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากที่สุด

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

สิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปา-Moon Europa


             ยูโรปาดวงจันทร์จิ๋วของดาวพฤหัส มีขนาดเล็กกว่าโลกหลายเท่าตัว ดาวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและภายใต้น้ำแข็งนั้นเป็นมหาสมุทรน้ำในสถานะของเหลวในปริมาณที่มากกว่าโลกถึง 2-3 เท่า และหากถามว่ายูโรป้ามีพลังงานความร้อนมาจากไหนในเมื่อพลังจากแสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง เพราะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ 960 ล้านกิโลเมตร  พลังงานความร้อนของยูโรปาเกิดจากการยึดหดตัวของดาวที่เกิดจากแรงดึงดูดจากดาวพฤหัส ทำให้เกิดการยืดหดแบบเดียวกับลูกเทนนิสที่โดนตี หรือลูกฟุตบอลที่โดนเตะและคืนสภาพเดิม ทำให้พื้นมหาสมุทรมีพลังงานความร้อนจนน้ำแข็งหลอมเหลว น้ำเป็นสภาวะเอื้อต่อการดำรงค์ชีวิต แม้ไม่มีแหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ แต่จากการได้ศึกษาพบว่าสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว พลังงานความร้อนจากแหล่งอื่นก็สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน   ดังเช่นใต้มหาสมุทรลึกบนโลกเราคือปล่องน้ำพุร้อนที่ละลายแร่ธาตุออกมาเรียกว่า ปล่องไอดำ ในบริเวณนั้นพบว่ามีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่อย่างมากมายโดยอาศัยพลังงานความร้อนและแร่ธาตุจากน้ำพุร้อนนั้นดุจโอเอซีสใต้ทะเล

วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

โรคฉี่หนูอันตรายใต้สายฝน-Leptospirosis


โรคฉี่หนู Leptospirosis
             เข้าสู่หน้าฝน ไม้ที่ผ่านความแห้งแล้งขาดน้ำจนต้นเหี่ยวเฉา ความชุ่มฉ่ำจากสายฝนมาเยือนก็เริ่มผลิใบอ่อนชูช่อ พืชพันธุ์ล้มลุกเริ่มแตกหน่อ เมล็ดพันธุ์เริ่มงอกงาม หมุนกงล้อชีวิตให้เดินหน้าต่อ ชีวิตคนเราก็ไม่ต่างกับสิ่งเหล่านี้ทุกนาทีเรากำลังก้าวผ่านกาลเวลา เผชิญปัญหาต่อสู้ดิ้นรน ผ่านทุกข์ สุข โรคภัย เพื่อก้าวไปข้างหน้า
             ฤดูฝนในอีกมุมหนึ่งเชื้อโรคต่างๆ อาจจะแพร่เชื้อระบาดได้ง่าย ด้วยความชื้นแฉะ ในฤดูนี้มีโรคเกิดขึ้นได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคทางน้ำและอาหาร โรคทางเดินหายใจ น้ำกัดเท้า ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย และโรคฉี่หนูหรือโรค โรคเลปโตสไปโรซิส  เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน (Zoonosis) โรคนี้เราอาจเข้าใจผิดไปว่ามีเฉพาะหนูเท่านั้นที่แพร่เชื้อได้แต่สัตว์อื่นอย่างเช่น สุกร โค กระบือ สุนัข แมวฯ แต่หนู จะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิต และมีเปอร์เซ็นเป็นพาหะนำโรคสูงที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อที่อาศัยอยู่ในตัวหนูจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เชื้อปนเปื้อนอยู่ในน้ำขัง หรือผัก ปลา โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางรอยขีดข่วนเป็นแผล เนื้อเยื่ออ่อนบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานแม้ไม่มีบาดแผล ระยะฟักตัว 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร มีไข้อ่อนๆ ตาแดง กล้ามเนื้ออักเสบ ตัวเหลือง คอแห้ง ตับวาย ไตวาย ถึงเสียชีวิตได้

การทำลายเชื้อทำได้อย่างไร?
1. ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูงกว่า 8.0 หรือต่ำกว่า 6.5
2. ความเค็ม เช่น น้ำทะเล
3. ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือ 70 องศาเซลเซียส 10 วินาที และแสงแดดสามารถทำลายเชื้อได้
4. ความแห้งสามารถทำลายเชื้อได้ ในพื้นดินที่แห้ง เชื้อจะตายในไม่กี่ชั่วโมง
5. น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไอโอดีน คลอรีน และน้ำยาทำความสะอาด (Detergents) รวมทั้งสบู่สามารถฆ่าเชื้อได้

ข้อแนะนำ
1. ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื่อให้นำไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา และแยกสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ
2. ฉีดวัคซีนป้องกันฉี่หนูให้กับสัตว์เลี้ยงใกล้ชิด (แมวยังไม่มีวัคซีนโรคนี้)
3. หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เล่นน้ำขัง เจ้าของควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วย
4. ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย และกรงสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
5. กำจัดหนูบริเวณที่อยู่อาศัย ไร่ นา หรือที่ๆ มีโอกาสแพร่เชื้อ
6. ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบาย ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป
7. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
8. ฉีดวัคซีนป้องกันแก่คนงานและผู้ที่ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อโรค เป็นวิธีที่ใช้ในญี่ปุ่น จีน อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิสราเอล

ภาพประกอบ/เรียบเรียง : xsci

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา-wat phrasisanphet

          วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สุดของราชสำนักอยุธยา มีฐานะเป็นวัดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์จำอยู่ในวัด พื้นที่ตั้งของวัด เดิมเป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงยกพื้นที่นี้ให้เป็นเขตพุทธาวาส เมื่อปี พ.ศ.1991 เรียกว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วย้ายบรรดาพระราชมณเฑียรเลยขึ้นไปทางทิศเหนือ ต่อจากเขตวัดไปจนจรดริมแม่น้ำลพบุรีในปัจจุบัน วัดพระศรีสรรเพชญ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (ปีละ 2 ครั้ง) ตลอดจนใช้เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อยุธยาเกือบทุกพระองค์ เป็นต้น
          บริเวณใจกลางสุด มีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ 3 องค์ สลับระหว่างกลางแต่ละองค์ด้วยมณฑปอีก 3 หลัง ปลายทิศตะวันตกของพระเจดีย์องค์สุดท้ายมีฐานของพระวิหารจัตุรมุข โดยตรงกลางมีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ ส่วนมุขทั้งสี่ด้านเชื่อว่าเคยมีพระพุทธรูปนั่ง ยืน นอน และเดิน ด้านทิศตะวันออกต่อกับเจดีย์องค์แรกเป็นวิหารสำคัญที่สุด เพราะบริเวณด้านท้าย ซึ่งเรียกว่า ท้ายจระนำ ใช้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์องค์ต่างๆ ในวิหารเคยมีพระพุทธรูปหุ้มทองคำหนัก 286 ชั่ง (หรือหนักเท่ากับ 12,880 บาท) ประทับยืนสูงถึง 8 วา มีพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในสมัยอยุธยา
          พระวิหารหลวงหรือวิหารพระศรีสรรเพชญ์นี้ถูกขนาบด้วยวิหารพระโลกนาถอยู่ด้านทิศเหนือ ส่วนทิศใต้เป็นวิหารพระป่าเลไลยก์ ถัดต่อทางด้านหน้าเป็นพระวิหาร(ทิศเหนือ) และพระอุโบสถ(ทิศใต้) อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้วยพระเจดีย์สลับกับวิหารแกลบอย่างได้สัดส่วนยิ่ง
          วัดนี้ถูกเผาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่า ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 พม่าได้ปล้นสะดมทรัพย์จำนวนมาก ทั้งที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและที่ได้มาจากการที่สยามยึดมาจากพระนครธม ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ พม่าได้เอาไฟสำรอกทองหุ้มองค์พระศรีสรรเพชญ์ คงเหลือแต่แกนในพระซึ่งทำด้วยสำริด เมื่อคราวตั้งกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้อัญเชิญแกนในพระศรีสรรเพชญ์ลงไปด้วย ทรงสร้างพระเจดีย์หุ้มแกนพระองค์นี้เอาไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) แล้วถวายพระนามตามท่านว่า เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ดาญาณ
           ภาพเจดีย์สามองค์เรียงซ้อนกันเช่นภาพนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอยุธยาได้อย่างชัดเจน และเป็นที่แพร่หลายเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ปัจจุบันวัดพระศรีสรรเพชญมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนกล่าวได้ว่าไม่มีคณะทัวร์ไหนที่จะไม่ขาดโปรแกรมการมาชมวัดพระศรีสรรเพชญเลย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นอดีตพระอารามในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการได้มาเที่ยวอยุธยานักท่องเที่ยวจึงนิยมการถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก
          เจดีย์ทั้งสามองค์นี้...ชาวอยุธยามักกล่าวติดปากว่า "เจดีย์สามพี่น้อง" ด้วยความไม่เข้าใจในประวัติศาสตร์ อันที่จริงแล้ว เจดีย์ทั้งสามมีฐานะเปรียบดังเครือญาติได้ดังนี้ เจดีย์องค์แรก(ด้านขวา)คือเจดีย์พระบิดา สร้างเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เจดีย์องค์กลาง คือเจดีย์โอรสองค์ใหญ่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และองค์สุดท้ายด้านซ้าย คือเจดีย์โอรสองค์รอง สมเด็จพระรามาธิปดีที่ 2 ถ้าจะเปรียบดังเครื่องญาติแล้วก็คือ เจดีย์ พ่อ ลูกคนโต ลูกคนเล็ก จึงจะถูกต้อง

เนื้อหาจาก :  ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/202/116/





วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

ลืมหัวใจไว้ที่เชียงตุง-Chiang Tung-Keng tung)

 แนะนำฟัง FM เพลงเชียงตุง เพียง Copy Link นี้ไปวางใน Winamp หรือ VLC  http://radio.dwebsalehost.com:8020/

หนองตุง ที่มาของชื่อเมืองเชียงตุง
          นครเขมรัฐตุงคบุรี มีความเป็นชาติครบถ้วน ทั้งศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา สังคม มีประชาชนที่หวงแหนในองค์ประกอบความเป็นชาติ ไทใหญ่ ไทเขิน มีภาษาพูดที่ใกล้เคียงภาษาไทย
กว่า 80% มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งเคยร่วมรบกันในสงคราม ประวัติศาสตร์ยังเชื่อมไทยกับไทใหญ่ไว้ร่วมกัน ไทใหญ่ เชียงตุง เชียงรุ่ง เชียงใหม่ ล้วนเป็นเครือญาติกัน ไม่ได้รู้สึกเป็นมิตรกับพม่าแต่กลับเป็นมิตรกับไทยมากกว่า ในยุคที่มีการเปิดเสรีค้าฝิ่นเมืองเชียงตุงรุ่งเรืองกว่าเมืองไหนๆ ในแถบนี้ แต่เมื่อยกเลิกค้าฝิ่นบ้านเมืองก็หยุดเจริญเติบโตและพัฒนาช้า ทำให้เมืองเชียงใหม่ เชียงรายพัฒนาก้าวหน้าล้ำกว่า  ชาวไทใหญ่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า เก็งตุ๋ง (Keng tung)ในอดีต เชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางไปมาค้าขายในเส้นทางนี้
           เชียงตุงมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทขึนหรือไทเขิน มีไทใหญ่ และ พม่า ลองลงมา ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาข่า ปะด่อง ว้า ลาฮู ลีซอ ลัวะ เผ่าแอน ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 37 เผ่า เชียงตุงมีที่มาจากชื่อแม่น้ำน้ำขึน หรือฝืน มาจากแม่น้ำไหลย้อนขึ้นทางเหนือไม่เหมือนแม่น้ำทั่วไป ชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแห่งนี้จึงเรียกตัวเองว่าชาวไทขึน มีความสามารถโดดเด่นในการสานไม้ไผ่แบบลวดลายละเอียดมากเป็นภาชนะแล้วเคลือบด้วยยางไม้สีแดง เรียกว่าเครื่องเขิน ไทยภาคกลางจึงเรียกกลุ่มชนเหล่านี้ว่า ไทเขิน ในอีกความหมายหนึ่งด้วย หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า ครัวฮักครัวหาง ลักษณะเด่นอีกอย่างของเมืองเชียงตุงคือมีวัดจำนวนมากหรือเรียกว่าเมืองร้อยวัด และวัดส่วนใหญ่ในเชียงตุงจะมีอายุ 600 กว่าปี มีความเก่าแก่ร่วมสมัยกับ เชียงใหม่ เชียงแสน น่าน สุโขทัย มีอายุมากกว่า อยุธยา 100-200 ปี มากกว่ารัตนโกสินทร์ 400 ปี
          ในปัจจุบันเชียงตุงเป็นภาพย้อนกาลเวลาของเมืองไทยเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ที่นั่นคือภาพอดีตที่ไม่ใช่อยู่ในหน้าตำราหรือภาพถ่าย แต่เป็นภาพชีวิตจริง ความดีงามข้องน้ำจิตน้ำใจ การเข้าถึงวัดเข้าถึงธรรม คุณธรรม ศีลธรรม มีอยู่สูงมาก ในเมืองนี้มีวัดจำนวนมาก การเดินทางไปเชียงตุงในปัจจุบันสามารถเดินทางได้สะดวกโดยทางรถยนต์เริ่มต้นจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากจัดการเรื่องเอกสารผ่านแดน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย หากทำบอเดอร์พาส ใช้แค่บัตรประชาชนยื่น จ่ายค่าธรรมเนียมเราก็จะได้เอกสารผ่านแดนฝั่งไทย จากนั้นเตรียมสำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ พร้อมรูปถ่าย 1 นิ้ว เพื่อยื่นเอกสารผ่านแดนฝั่งพม่า เอกสารดังกล่าวจะถูกเก็บไว้ที่ไกด์ ไกด์จะเป็นผู้ดูแล จนกว่าจะกลับ เริ่มการเดินทางจากด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าไปตามถนน NH4 ระยะทาง 165 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 ชม. ด้วยรถยนต์ ถนนลาดยาง 2 เลนส์ วิ่งเลนขวา

สิ่งต้องห้ามก็คือการถ่ายภาพทหารและด่านตรวจ
ด่านที่ 1 ตรวจคือด่านบ้านแม่ยาง (สำเนียงไทขึน เรียกว่า หมากยาง)
ค่าธรรมเนียม  10 บาท พร้อมเช็คเอกสารจากไกด์

ด่านที่ 2  คือ เมืองท่าเดื่อ (สำเนียงไทขึน เรียกว่า ต้าเลอ หรือ ต้าเล)
ค่าธรรมเนียม  50 บาท พร้อมเช็คเอกสารจากไกด์

จุดที่ 3 คือ ด่านเมืองพยาก (สำเนียงไทขึน เรียกว่า เมืองเพี๊ยก หรือเมืองแพรก)
ค่าธรรมเนียม  10 บาท พร้อมเช็คเอกสารจากไกด์
ค่าอัดฉีดรถยนต์    10 บาท

จุดที่ 4 คือ ด่านเมืองเชียงตุง  20 บาทไทย พร้อมเช็คเอกสารจากไกด์
ค่าอัดฉีดรถยนต์    10 บาทไทย
ทุกด่านจะมีค่าตาชั่งรถยนต์ อีก 5 บาท

ต้องมีไกด์ประจำทริป
          การจ้างไกด์นี่เป็นกฎหมาย (เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552) ว่านักท่องเที่ยวจะต้องมีไกด์คนพม่านำเที่ยวด้วยทุกครั้ง ทุกด่าน พร้อมค่าธรรมเนียม 1,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือไกด์ 600 บาท รัฐบาล 400 บาท

หน้าที่คล้ายกัน
Keng Tung 2013
ตำนานเมืองเชียงตุง
รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors