วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปฏิสสาร, แบริโอเจเนซิส


ในวิชาฟิสิกส์อนุภาค ปฏิสสาร (อังกฤษ: Antimatter) คือส่วนประกอบของแนวคิดเกี่ยวกับปฏิอนุภาคของสสาร โดยที่ปฏิสสารประกอบด้วยปฏิอนุภาคในทำนองเดียวกันกับที่สสารปรกติประกอบขึ้น ด้วยอนุภาค ตัวอย่างเช่น ปฏิอิเล็กตรอน (หรือโพสิตรอน คืออิเล็กตรอนที่มีขั้วเป็นบวก) 1 ตัว และแอนติโปรตอน (โปรตอนที่มีขั้วเป็นลบ) 1 ตัว สามารถรวมตัวกันเกิดเป็นอะตอมแอนติไฮโดรเจนได้ ในทำนองเดียวกันกับที่อิเล็กตรอน 1 ตัวกับโปรตอน 1 ตัวสามารถรวมกันเป็นอะตอมไฮโดรเจนที่เป็น "สสารปกติ" ได้ หากนำสสารและปฏิสสารมารวมกัน จะเกิดการทำลายล้างกันในทำนองเดียวกับการรวมอนุภาคและปฏิอนุภาค ซึ่งจะได้โฟตอนพลังงานสูง (หรือรังสีแกมมา) หรือคู่อนุภาค-ปฏิอนุภาคอื่น

ยัง เป็นข้อสงสัยอยู่ว่า ทำไมเอกภพที่เราสังเกตได้จึงมีแต่สสารเกือบทั้งหมด มีที่แห่งอื่นอีกหรือไม่ที่มีแต่ปฏิสสารเกือบทั้งหมดเหมือนกัน และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราสามารถนำปฏิสสารมาใช้งาน การที่มีสสารกับปฏิสสารอยู่อย่างไม่สมดุลในเอกภพที่เรามองเห็น เป็นหนึ่งในปัญหาที่ยังไขไม่ออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวิชาฟิสิกส์ กระบวนการที่ทำให้เกิดการไม่สมดุลระหว่างอนุภาคกับปฏิอนุภาคนี้ เรียกชื่อว่า แบริโอเจเนซิส

ในการศึกษาจักรวาลวิทยา แบริโอเจเนซิส (อังกฤษ: Baryogenesis) เป็นศัพท์สามัญที่ใช้เรียกกระบวนการทางกายภาพตามสมมุติฐาน อันเป็นการทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างแบริออนกับปฏิแบริออน ในช่วงเริ่มต้นของเอกภพ เป็นผลให้เกิดสสารต่างๆ อันเป็นส่วนประกอบของเอกภพในปัจจุบัน

ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับแบริโอเจเนซิส ต้องอาศัยสาขาวิชาย่อยทางฟิสิกส์มาช่วยมากมาย เช่น ทฤษฎีสนามควอนตัม และฟิสิกส์เชิงสถิติ เพื่ออธิบายถึงกลไกที่เป็นไปได้ ความแตกต่างระหว่างทฤษฎีแบริโอเจเนซิสแบบต่างๆ เป็นเรื่องรายละเอียดของปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคพื้นฐาน

กระบวนการถัด จากแบริโอเจเนซิส ยังเป็นที่เข้าใจกันมากกว่า นั่นคือ บิกแบงนิวคลีโอซินทีสิส ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่นิวเคลียสอะตอมของแสงเริ่มก่อตัวขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น