วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โยนิโสมนสิการ (Critical Reflection)



  โยนิโสมนสิการ (Critical Reflection) โยสิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุ มนสิการ แปลว่า การทำในใจ รวมแล้วแปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย  เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ ซึ่งนำมาใช้ในทางการศึกษาในด้านพุทธิพิสัยก็คือ รู้จำ เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่า (ซึ่งได้เขียนไว้ในฉบับที่แล้ว ปีที่ 2 ฉบับที่ 11) โยนิโสมนสิการ ประกอบไปด้วยหลักการคิด 10 ประการ

  1.  คิดจากเหตุไปหาผล  รู้เหตุก่อนถึงจะรู้ผล เช่น ความหิวเป็นสาเหตุให้ต้องไปกินอาหาร หรือ การไม่อ่านหนังสือทำให้สอบตก
    2.  คิดจากผลไปหาเหตุ  รู้ผลก่อนถึงจะรู้เหตุ เช่น รู้ว่าสอบตกเหตุมาจากไม่อ่านหนังสือไม่ตั้งใจเรียน หรือ กินอาหารเป็นเหตุมาจากความหิว
    3.  คิดแบบเห็น ความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่ มองเหตุการณ์ สถานการณ์ ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายอย่างรู้เข้าใจธรรมดาธรรมชาติของมันเช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวงจรของชีวิต


    4.  คิดแบบแก้ปัญหา/ คิดแบบอริยสัจ เป็นการคิดสืบสาวจากผลไปหาเหตุ ในแบบพระพุทธศาสนาคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค เป็นวิธีคิดที่ใช้แก้ปัญหาซึ่งตรงตามกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์
    5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ เป็นการคิดปฏิบัติตามจุดมุ่งหมาย เมื่อได้ทำงานอะไรก็ตรวจความถูกต้องของจุดมุ่งหมาย และเข้าใจหลักการอย่างชัดเจน เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างถูกต้องและสำเร็จ
    6.  วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก เป็นการ มองให้ครบทั้งข้อดี ข้อเสีย และทางแก้ไขหาทางออกให้หลุดรอดปลอดพ้นจากข้อบกพร่องต่างๆ เป็นวิธีมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง เน้นการศึกษาและยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆ
    7.  วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม* การคิดที่สกัดหรือบรรเทาตัณหาของมนุษย์ ซึ่งจะใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 เช่นเสื้อผ้ามีไว้ปกปิดและให้ความอบอุ่นต่อร่างกายคุณค่าเทียมคือความโก้หรูตามค่านิยม หรือ อาหารมีไว้รับประทานเพื่อดำรงค์ไว้ซึ่งชีวิตคุณค่าเทียมคือโก้หรู แสดงถึงความมีฐานะดี ตามค่านิยมทางสังคม 
    8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม การเริ่มต้นและชักนำความคิดไปสู่ความเป็นกุศล กระตุ้นให้คนทำความดี
    9.  วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คือ การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจของปัญญาโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์
    10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่าวิภัชชวาทแปลว่า การพูดแยกแยะจำเเนกเเจกเเจง แถลงความแบบวิเคราะห์วิภัชชะ แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนกหรือแจกแจง ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “วิเคราะห์” ในพุทธิพิสัยในด้านการศึกษาปัจจุบันเน้นการคิดวิเคราะห์และประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
    การคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นการสอนให้คนใช้ชีวิตหรือประยุกต์เข้ากับการศึกษาโดยยึดหลัก คิดถูกต้องทำถูกต้อง ฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อก้าวไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดีและถูกต้องต่อไป

credit: une.edu.au/tlc/alo/critical1.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น