วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Thailand center of asian



พิทยา ว่องกุล
    ความยินดีปรีดาของนักวิชาการบางคนและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โหมโฆษณา ด้วยความฝันในจินตนาการว่า   ?ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางอาเซียน? โอกาสการพัฒนาของไทยนั้นสูงเหนือกว่าประเทศอื่นใด จึงจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ  และรุกเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากการเปิดประตูอาเซียนในปี 58 เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นก็เตรียมตัวเอาจากประเทศที่พัฒนากว่า เช่นกัน
    ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนจริงหรือเปล่า นักวิชาการบางคนถึงกลับตีปี๊บเสียงแปร่งๆ ว่า โชคดีที่ทำเลประเทศไทยทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาค สามารถติดต่อกับประเทศต่างๆ ได้สะดวก การคมนาคมเชื่อมต่อไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็เพียงแค่มุมมองทางด้านภูมิศาสตร์ด้านเดียว แต่โลกยุคปัจจุบันนี้ วัดความเป็นศูนย์กลางด้วยเงื่อนไขการคมนาคมหรือโลจิสติกส์ ศูนย์เศรษฐกิจการพาณิชย์ ความเป็นเจ้าของและการบริหารจัดการท่าเรือ รถไฟ (สายเอเชีย) ยวดยาน  สนามบิน ระบบการคมนาคมขนส่ง และโทรคมนาคม
    คำตอบสำหรับอนาคตไทยคาดเดาไม่ยาก เพียงแค่คำถามว่า ท่าเรือเป็นของทุนประเทศใด หรืออีกไม่นาน รัฐบาลก็จะยกการเชื่อมต่อรถไฟจากประเทศต่างๆ ไปให้จีน ที่เสนอตัวเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และจีนพร้อมที่จะลงทุนด้านรถไฟในเวียดนาม  ลาว กัมพูชา เชื่อมรางสายต่างๆ จากจีนออกสู่ประเทศในอาเซียน โดยวางยุทธศาสตร์เป็นเจ้าของ ใช้เอเซียนเป็นประเทศบริวาร และเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรถไฟที่ติดต่อได้ทั่วอาเซียน รวมเป็นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในการระบายสินค้าราคาถูกไปทั่วประชาคมอาเซียน แล้วไทยจะเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้หรือ? ไม่ใช่ไทยหรอก
    คาดกันว่า อนาคตประชาคมอาเซียนคงเป็นได้เพียงแค่  เมืองบริวารของจีนแผ่นดินใหญ่ในทางเศรษฐกิจ และระบายพลเมืองที่แออัดเยียดพันกว่าล้านคนออกมา ในเงื่อนไขสถานการณ์พื้นที่ด้านการเกษตรของจีนจำกัดจำเขี่ย อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงเล่ห์เพทุบายของรัฐบาลจีน เรื่องการให้ความช่วยเหลือและการลงทุนใหญ่ๆ ในอาเซียน มักควบคู่กับการระบายประชาชน เมื่อคนจีนส่งออกไปแล้ว จะไม่นำคนกลับมาตุภูมิ  ดังเช่นให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างสนามแข่งขันเอเชียนเกมส์แก่ลาวฟรี แล้วชาวจีนยังคงอยู่ในลาว ประเมินกันว่านับแสนคนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าจีนได้เข้ามาสร้างทางรถไฟในเวียดนาม ลาว เขมร และไทย ปัญหาซ้ำรอยเดิมคงเกิดขึ้น รวมไปถึงหลังทางรถไฟเสร็จแล้ว จีนก็สามารถใช้เส้นทางรถไฟกระจายชาวจีนสู่อาเซียนในรูปการค้าเสรีและแรงงาน เสรีได้อย่างกว้างขวาง ผลข้างเคียงนี้จะกระทบต่ออาเซียนอย่างใหญ่หลวงด้านการยึดครองด้วยประชากร
    รัฐบาลไทยไม่เคยมองเรื่องนี้ ไม่เห็นปัญหาที่ลาวเผชิญปัญหารัฐบาลจีนไม่เอาชาวจีนกลับบ้านเมือง เช่นเดียวกับ เวียดนามเข้ามาช่วยปลดปล่อยเขมรจากรัฐบาลเขมรแดงพลพต แล้วให้คนเวียดนามอยู่ในเขมรต่อไป การเปิดประตูประชาคมอาเซียน จึงเท่ากับเป็นการสร้างประชาคมจีนเพิ่มเติมให้ประเทศต่างๆ
    ไทยเป็นศูนย์รวมแรงงานนานาชาติ หรือกรรมกรไทยเตรียมตกงานขนานใหญ่กันแน่ เมื่อแรงงานอาเซียนหลั่งไหลเข้าแทนที่จากทั่วทุกสารทิศ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของค่าเงิน  ค่าครองชีพของไทยสูงกว่า  ลาว เวียดนาม พม่า เขมร และอินโดนีเซีย ฯลฯ ทำให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านพากันมาขุดทองในไทยไม่ขาดสาย และได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมคนไทย  ปัจจุบันนี้ มีแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือเข้าไทยราว 4 ล้านคน มาสร้างบ้านแปงชุมชน จนบางแห่งถูกล้อเล่นว่ากลายเป็นเมืองพม่าไปแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต สมุทรสาคร และแม่สอด หรือลาวเข้ามาทำงานในจังหวัดชายแดนไทย เวียดนามเข้ากรุงเทพฯ และบริเวณชายแดนอย่างหยุดไม่ได้ สาเหตุก็เพราะแรงดึงดูดใจด้านค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนข้าราชการในประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่น แรงงานลาวมาทำงานในไทยได้เดือนละ 9,000 บาท ก็เทียบเท่าข้าราชการระดับสูงหรือหมอของลาว เป็นต้น และเคยมีคนลาวจบปริญญาตรีทำงานในไทยรายได้เดือนละ 10,000 บาท เพียงไม่กี่ปีเงินที่ส่งกลับไปให้พ่อแม่เพื่อสะสมเก็บออมจนซื้อที่ดินได้นับ สิบไร่
    เช่นเดียวกับแรงงานพม่า นักธุรกิจคนหนึ่งที่มีคนงานพม่านับสิบคนเล่าให้ฟังว่า คนงานพม่าในโรงงานของเขามักอาศัยอยู่กินด้วยกันอย่างประหยัด เงินแต่ละเดือนใช้แต่น้อย ที่เหลือส่งไปให้พ่อแม่ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมาทำงานในเมืองไทยได้ไม่กี่ปี   ครอบครัวที่อยู่บ้านในพม่าก็มีฐานะดี พ่อแม่สามารถซื้อที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ของเขาเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยไม่อาจระบุจำนวนแรงงานพม่าได้ชัดเจน เพราะบางส่วนไม่ยอมขึ้นทะเบียน เกรงกลัวว่าเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว รายชื่อจะถูกส่งไปยังประเทศพม่า ทางการทราบชื่อแล้ว ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เพราะทหารหรือเจ้าหน้าที่จะไปกวนขอเงินจากพ่อแม่ของตน เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า ครอบครัวพม่าที่ลูกไปใช้แรงงานในไทยจะมีฐานะดีกว่าคนอื่น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานประเทศเพื่อนบ้านจะกลับมาตุภูมิหลังเปิดประชาคมอา เซียน หรือสิ่งที่อองซาน ซูจี นักสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่ากล่าวต่อคนงานพม่าที่สมุทรสาครว่า จะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น เพื่อนำคนงานกลับพม่าจึงไม่เป็นจริง ในทางตรงกันข้าม การเปิดประตูอาเซียนจะเอื้อให้แรงงานในฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีเงื่อนไขเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎบัตรของภูมิภาค แต่ส่งผลกระทบต่อการว่างงานของคนไทยอย่างรุนแรง  โดยสิ่งที่จะต้องระวังก็คือ ปัญหาแรงงานต่างด้าวต่อสังคมไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการแย่งสวัสดิการรักษาพยาบาล งบการสาธารณสุขไปจากคนไทย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในภูเก็ต หรือสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังเกิดชุมชนคนต่างด้าวขึ้นเป็นแหล่งๆ ก่อปัญหาทางสังคมตามมา ใครสนใจให้ไปดูหมู่บ้านชาวพม่าในสมุทรสาครเป็นตัวอย่าง
    ในอาเซียนมี 2 ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจตามกระแสโลกาภิวัตน์ได้ดี ทั้งค่าแรงงาน อัตราค่าเงิน และค่าครองชีพสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ ไทย และมาเลเซีย แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว แต่พื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตร ทรัพยากร และโทรคมนาคม  ยังสนับสนุนให้มีโอกาสฟื้นตัวและพัฒนาเจริญต่อไปได้ หากไม่มีปัจจัยลบทางการเมืองที่ขัดแย้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะค่าแรงในมาเลเซียที่อัตราสูงรองจากไทย จะพบว่าค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม คนงานมาเลย์ที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้รับค่าจ้าง 5.54 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 166 บาท ถ้าคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30 บาท) และ 171 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 5,130 บาท) สำหรับผู้ที่ทำงานล่วงเวลาด้วยแล้ว จะได้ค่าจ้างราว 215-246 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ตัวเลขจาก Thanyathip  Sripana ?The Socio ? Economic Plight of Vietnamese Labor in Malaysia,? The Work of the 2009/2010 API Fellows.) ดังนั้น อัตราค่าแรงสูงจึงเป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวจากอินโดนีเซีย (มากที่สุด) บังกลาเทศ เนปาล อินเดีย  เวียดนาม ฯลฯ เข้าไปทำงานประมาณ 3-3.6 ล้านคนใน ค.ศ.2553 การเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ทั้งสองประเทศเพิ่มมาก ขึ้นอย่างแน่นอน รัฐบาลจะรับมือได้อย่างไร?
    ในทางตรงกันข้าม เมื่อค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน ปัจจุบันสามารถประมาณการโดยเฉลี่ยว่า สูงราว 2-9 เท่าตามความเจริญของแต่ละประเทศ ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตมาก ทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนของประเทศพัฒนาแล้ว ไปยังประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่ามาก จะพบว่า ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ยุโรป รวมทั้งนายทุนไทยและประเทศอาเซียนสนใจไปลงทุนในพม่า เวียดนาม ลาว เขมรที่ค่าแรงถูกมากขึ้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรจะส่ง ผลถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมเป็นสำคัญ และในที่สุดก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา
    ทำไมจึงกระทบต่อแรงงานมาเลเซียน้อยกว่า เหตุผลง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลมาเลเซียได้เตรียมยกระดับแรงงานของตนเป็น  ?แรงงานฝีมือ? ไว้แล้ว โดยกรมพัฒนาแรงงานฝีมือได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมถึง 968 ศูนย์ 5,903 โครงการ สำหรับฝึกอบรมคนงานมาเลย์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ การเป็นนักเทคนิค และการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ดำเนินมาก่อนจนถึงปี 2551 โดยมีศูนย์กลางสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กลางพัฒนาฝีมือแรงงานปีนัง (The Penang Skills Development Centre-PSDC) และ Dream Catcher Consulting Sdn Bhd (เป็นสถาบันฝึกอบรมเทคนิคส่วนบุคคลด้านอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์) ยกระดับอุตสาหกรรมในมาเลย์เป็นอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีทันสมัย แรงงานมาเลย์เป็นแรงงานฝีมือ (Joel Hermandez, ?Investing in Worker'Skill Development : Cross?Country Analysis, Experiences, and Policy Implications,?The Work of the 2007/2008 API Fellows.)
    แสดงว่าวิสัยทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซียกว้างไกลกว่ารัฐบาลไทยครับ เขามองเห็นปัญหาแรงงานไร้ทักษะฝีมือหรือแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมายจะทะลัก เข้าประเทศ เมื่อประตูอาเซียนเปิดกว้างตลอดทั้งภูมิภาค ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการว่างงานของชาวมาเลย์ จึงจัดการแก้ไขปัญหาโดยยกระดับการผลิตเป็นอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ดิจิตอล โทรคมนาคม ข่าวสาร ความถี่คลื่น ไมโครเวฟ เซมิคอนดักเตอร์ การถ่ายภาพ การบริหารเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีง่ายๆ พร้อมกับฝึกแรงงานฝีมือมาเลย์ไว้ตอบสนองความต้องการลงทุนต่างชาติ จะผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัน ทันสมัย  และแก้ไขปัญหาการว่างงานของชาวมาเลย์ไปสู่แรงงานที่มีคุณภาพ จึงเปิดโอกาสให้มาเลเซียเป็นชาตินำหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต โดยมีความมั่นคงด้านเงินสกุลริงกิตที่ผูกค่ากับดอลลาร์ในอัตราที่รัฐบาล กำหนด ไม่ใช่ปล่อยลอยตัว เช่น ไทย อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ ทั้งความมั่นคงของค่าเงินริงกิตยังเป็นสิ่งเสริมความน่าลงทุนจากตะวันตกสูง กว่าประเทศอื่นอีกด้วย
    น่าสงสารประเทศไทย รัฐบาล ข้าราชการ และนักวิชาการฟากรัฐ ยังคงมะงุมมะงาหราอยู่กับจินตนาการเพ้อฝัน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อปัญหาการเปิดประชาคมอาเซียน โดยกลับมาตั้งหน้าศึกษาวิจัยอย่างละเอียดถึงผลดี-ผลเสีย การวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง การใช้ทรัพยากรและจุดเด่น อันนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์พัฒนาไทยในประชาคมอาเซียน และเตรียมรับมือกับปัญหาอีกมากมายที่จะตามมา จากการค้าเสรีในภูมิภาคแห่งนี้ เมื่อวิสัยทัศน์รัฐลอยไปลอยมาเหมือนว่าวลอยลม ภาคนักวิชาการ เช่น ทีดีอาร์ไอ สถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรที่จะร่วมมือกันศึกษาค้นคว้า เพื่อหาแนวทางแหวกออกไปจาก ?ประตู (ผี) ประชาคมอาเซียน?.

credit : thaipost.net/news/130812/60920

1 ความคิดเห็น:

  1. แล้วเราจะไปทางใหนต่อหละครับ ในเมื่อยังใงๆก็ต้องเปิดประเทศกับชาวบ้านเขาอยู่แล้ว(ในเมื่อคนที่อยู่รอบตัวเราเขาเอาแนวทางนี้กันหมดแล้วเราจะยืนอยู่คนเดียวยังใง เราจะมีวิธีการรับมือยังใงครับ รบกวนตอบด้วยครับ สงสัย

    ตอบลบ